ไข้หวัด
เป็นโรคที่คนเราเป็นกันบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัส
ติดต่อโดยการคลุกคลี ไอ จาม รดกัน ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือไอมีเสมหะ ระคายคอ การดูแลรักษาตนเองทำได้ง่าย ๆ
คือพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ กินยาลดไข้เมื่อมีอาการตัวร้อน ไข้สูง
การใช้ยากลุ่มที่เป็นยาปฏิชีวนะควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็น ยกเว้นมีการติดเชื้อแทรกซ้อน โดยปกติอาการต่าง ๆ
จะหายไปหรือดีขึ้นในเวลา 3-7 วัน
ขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงของร่างกาย
ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการไอ จาม
หรือหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะผู้ป่วย
หรือสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ
อาการจะรุนแรงกว่าไข้หวัดคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย
เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาจจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกใส
ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง โดยอาการมักดีขึ้นและหายได้ใน 1 สัปดาห์
แต่ในผู้ติดเชื้อบางรายจะมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น
ผู้สูงอายุ
ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้
โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน และสามารถป้องกันได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังฉีด
และอาจอยู่ได้นานกว่า 1 ปี
โดยทั่วไปวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 60-90 หรือหากเป็นโรคอาการของโรคมักไม่รุนแรง
ปอดอักเสบ
มักพบในคนที่ไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น
เด็กขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
อาจพบว่าเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด สุกใส ทอนซิลอักเสบ ฯลฯ
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจะมีอาการไข้ หายใจหอบ ไอแห้ง ๆ ในช่วงแรก
ต่อมาจะมีเสมหะขุ่นสีเหลือง สีเขียว ในเด็กโตและผู้ใหญ่บางครั้งอาจมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรง
ๆ อาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง ในเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด
ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่าย หรือชัก
การรักษา ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา
ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหรที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่
ไม่ดื่มสุราเรื้อรัง และอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี
หัด
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง พบมากในเด็กอายุระหว่าง 2-14 ปี ติดต่อได้ง่ายเพียงการไอจามรดกัน หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย
ของผู้ป่วย เริ่มแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ต่างกันตรงที่จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา
กินยาลดไข้ก็ไม่ลด เด็กจะซึม กระสับกระส่าย ร้องงอแง เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใสๆ
ไอแห้งๆ เยื่อบุตาอักเสบ มีน้ำตาไหลมาก ตาแดง ไม่สู้แสง
คือจะหรี่ตาเมื่อถูกแสงสว่าง หนังตาบวม และระยะ 2 วันหลังมีไข้จะพบจุดสีขาวๆ
เหลืองๆ ขนาดเล็กๆ คล้ายเมล็ดงาที่กระพุ้งแก้มบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง อาจเพียงแค่ 2-3
จุดจนถึงเต็มกระพุ้งแก้ม เรียกว่า จุดค็อพลิก
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของหัด
หลังมีไข้ 3-4 วัน
จะเข้าสู่ระยะออกผื่นโดยพบผื่นแดงขึ้นที่ตีนผมและซอกคอก่อน
ผื่นนี้จะจางหายได้เมื่อดึงรั้งผิวหนังให้ตึง ต่อมาผื่นจะลามไปหน้าผาก ใบหน้า
ลำตัวและแขนขา โดยจะค่อยๆ แผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง
รูปร่างไม่แน่นอนอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะค่อยๆ จางหายไปใน 4-7 วัน ซึ่งจะหลงเหลือให้เห็นเป็นรอยสีน้ำตาล
บางแห่งมีการหลุดลอกของผิวหนังด้วย
โรคหัดสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเมื่อเด็กอายุได้
9 เดือน
และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 5-6 ขวบ
หัดเยอรมัน
เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจะมีไข้ต่ำ ๆ
มีผื่นคล้ายโรคหัดกระจายทั่วร่างกาย โดยจะเริ่มจากหน้าผาก รอบปาก ใบหู
แล้วลงมาที่คอ ลำตัว แขน ขา อาจคันหรือไม่ก็ได้ บางคนมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้
บางคนมีไข้แต่ไม่มีผื่น อาจมีอาการแสบตา ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย
ถ้าไม่สังเกตอาจไม่ทราบว่าเป็นหัดเยอรมัน
โรคนี้ไม่จัดว่าเป็นโรคที่มีอันตรายรุนแรงในคนทั่วไป
แต่มีอันตรายอย่างมากกับหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
ถ้าได้รับเชื้อเข้าไปในช่วงระยะเวลานี้ อาจทำให้ทารกพิการได้
หัดเยอรมันสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
โดยเฉพาะคุณผู้หญิงควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนแต่งงานอย่างน้อย 3 เดือน
อีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด
ติดต่อได้ด้วยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส
ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย อาการจะมีผื่นขึ้น ระยะแรกจะเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน
มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างในและมีอาการคัน ผื่นและตุ่มจะทยอยขึ้นที่ละระลอก ๆ ทั่วร่างกาย
โดยทั่วไปผื่นจะหายโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อนบนผิวหนัง
ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือด
ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ และ ปอดบวมได้
ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้
เด็กอายุ 1-12 ปี ฉีด 1 หรือ 2 เข็ม โดยการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ซ้ำที่อายุ 4-6
ปี หรืออย่างน้อยหลังจากเข็มแรก 3 เดือนขึ้นไป
จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม ในระยะห่าง 1-2
เดือน จึงจะกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้สูงพอที่จะป้องกันโรค
อุจจาระร่วง
สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส
ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป
มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังไว้ด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ซึ่งสะอาดปลอดภัย และมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่าง ๆ
ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
ส่วนอาหารและน้ำควรปรุงหรือต้มให้สุกก่อนให้เด็กรับประทาน
ถ้าเด็กถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง
หากอาการไม่รุนแรง ควรให้กินอาหารเหลว เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่
ถ้าเด็กดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น
อาจต้องชงน้ำเกลือแร่ให้ดื่มบ่อย ๆ แต่ถ้าทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
หรือเด็กบางคนมีอาการขาดน้ำรุนแรง ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
ขอความร่วมมือผู้ปกครอง
เกี่ยวกับโรคภัยที่มักมาพร้อมกับฤดูหนาวและขณะนี้ พบมาที่สุดในศูนย์เด็กเล็ก
โรงเรียน มีศูนย์เด็กเล็กปิดไปหลายแห่งแล้ว และมีอยู่ 6 โรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวทุกปี คือ 1.โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันโดยน้ำมูก
น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จามออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะ
ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน 2.โรคปอดบวม เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า
5 ปี มักเกิดตามหลังโรคหวัด 2-3 วัน
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบ ถ้าเป็นมากจะหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม 3.หัด พบในเด็กอายุ 1-6 ปี
ติดต่อกันโดยการไอ จาม รดกัน ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้
ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัว และหายไปใน 14 วัน 4.โรคอี่สุกอี่ใส
ติดต่อกันโดยการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยเข้าไป
หรือสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย มักเกิดในเด็ก
ผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานจนตลอดชีวิต ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ
ใบหน้า ตามตัวเป็นผื่นแดง นูนแล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใส จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง
แห้งตกสะเก็ด และร่วงภายใน 5-20 วัน 5.โรคมือ เท้า ปาก
เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปาก จากมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก
น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก
กระพุ้งแก้ม แล้วจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็กๆ (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ
ฝ่าเท้า อาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ต่อมาจะแตกออกเป็นแผล 6.โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก
มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อกันโดยการดื่มน้ำ
หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยครั้ง
โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคน
อาจขาดน้ำรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ดังนั้นทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคณะพยาบาลศาสตร์
จึงขอประชาสัมพันธ์และขอความร่วมผู้ปกครองเด็กบุตรหลานที่ไม่สบายให้ผู้ปกครองดูแลพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าเด็กจะหายเป็นปกติ
เพื่อลดการติดเชื้อไม่ให้แพร่เชื้อหรือได้รับเชื้อเพิ่มมากขึ้น
หวังว่าคงได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วยดี
ขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ